11/07/2024
หมู่บ้านขุนช่างเคี่ยน เป็นหมู่บ้านที่กลุ่มชาติพันธุ์ม้งอาศัยอยู่ มีประวัติความเป็นมาเล่าขานยาวนานกว่าครึ่งศตวรรษ โดยคนกลุ่มแรกที่เข้ามาสร้างที่อยู่อาศัยในหมู่บ้านขุนช่างเคี่ยนเป็นชาวม้งที่อพยพย้ายมาจากหมู่บ้านดอยปุย และได้มาอาศัยบริเวณโดยรอบของหมู่บ้านขุนช่างเคี่ยนเพื่อทําการเกษตรเลี้ยงชีพ
ในปี พ.ศ. 2509 นายจู๋ยี แซ่ลี และนายสายหลือ แซ่ลี ได้มาสํารวจพื้นที่ในหมู่บ้านขุนช่างเคี่ยน และมีความเห็นตรงกันว่าจะรวมพลญาติพี่น้องที่ทําการเกษตรบริเวณหมู่บ้านมาอยู่รวมกันเพื่อให้เกิดความมั่นคง และสามารถช่วยเหลือกันได้ในยามมีเหตุฉุกเฉิน หรือเวลาที่มีพิธีกรรมต่าง ๆ จึงได้มีการเรียกประชุมกับหัวหน้าครอบครัวของกลุ่มคนที่ทําการเกษตรบริเวณรอบหมู่บ้าน ให้อพยพกันมาอาศัยอยู่ในหมู่บ้าน แต่ยังไปทําสวนอยู่ที่เดิมเพราะหมู่บ้านกับสวนระยะทางไม่ได้อยู่ไกลกันมากนัก แรกเริ่มมีชาวบ้านรวมตัวกันประมาณ 25 หลังคาเรือน ซึ่งก็ยังไม่สามารถตั้งเป็นหมู่บ้านของตัวเองได้ ทางอําเภอจึงได้ให้อยู่รวมกับหมู่บ้านช่างเคี่ยน หมู่ 1 ตําบลช้างเผือก อําเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อให้สามารถก่อตั้งเป็นหมู่บ้านได้
ต่อมาญาติพี่น้องชาวม้งดอยปุยที่นับถือผีบรรพบุรุษตนเดียวกัน ค่อย ๆ ทยอยย้ายมาอยู่บริเวณขุนช่างเคี่ยน ซึ่งในขณะนั้นหมู่บ้านดอยปุยจะมีทั้งม้งเขียวและม้งขาวอยู่รวมกัน แต่พอนายยี ที่เป็นม้งขาว ได้อพยพมาตั้งถิ่นฐานสร้างบ้านที่หมู่บ้านขุนช่างเคี่ยน จึงทําให้ม้งขาวในหมู่บ้านดอยปุยแยกตัวออกมาจากหมู่บ้านดอยปุยเมื่อประมาณ 50 ปีที่ผ่านมา
ต่อมาอีกประมาณ 2-3 ปี นับจากที่เริ่มอพยพมา มีชาวบ้านต่างหมู่บ้านอื่นได้ข่าวคราวว่าหมู่บ้านขุนช่างเคี่ยนทําการเกษตรได้ผลเจริญงอกงาม และอยู่ใกล้กับตัวเมืองในอีกไม่นานคงจะเจริญมากกว่าหมู่บ้านอื่น ๆ จึงทําให้มีญาติพี่น้องชาวม้งจากถิ่นอื่นเคลื่อนย้ายเข้ามาอาศัยอยู่เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อเริ่มมีประชากรเพิ่มมากขึ้นทางการจึงได้เข้ามาดำเนินการแต่งตั้งผู้ใหญ่บ้านเพื่อเป็นตัวแทนปกครองหมู่บ้านของตัวเอง ทําให้หมู่บ้านขุนช่างเคี่ยนย้ายจากหมู่ 1 มาเป็น หมู่ 6 บ้านขุนช่างเคี่ยน ตําบลช้างเผือก อําเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ ภายหลังจึงเปลี่ยนเป็นหมู่ 4 ตำบลช้างเผือกมาจนปัจจุบัน
ในอดีตชาวม้งบ้านช่างเคี่ยนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทางการเกษตร มีฝิ่นเป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญ แต่ในปัจจุบันนี้จะปลูกไม้ยืนต้นเป็นส่วนใหญ่ พืชหลักของคนในหมู่บ้านขุนช่างเคี่ยน อาทิ ลิ้นจี่ นางพญาเสือโคร่ง กาแฟ สตอเบอรี่ เป็นต้น
ปี พ.ศ. 2516 สถานีวิจัยเกษตรที่สูงขุนช่างเคี่ยนได้ขึ้นมาทําการวิจัยทดลองปลูกพืชเมืองหนาวในหมู่บ้าน จึงได้นําต้นกาแฟมาแจกจ่ายให้กับชาวบ้านนําไปปลูกรวมกับลิ้นจี่ ต่อมาคนในหมู่บ้านเริ่มมีการพัฒนาการทําเกษตรมากยิ่งขึ้น เริ่มปรับเปลี่ยนพื้นที่ไร่นามาปลูกหัวไชเท้าและปลูกผักเพิ่มมากขึ้น
ภายหลังการเข้ามาดำเนินการวิจัยทดลองปลูกพืชเมืองหนาวของสถานีวิจัยเกษตรที่สูงขุนช่างเคี่ยน เป็นจุดเริ่มต้นการพัฒนาพาขุนช่างเคี่ยนไปสู่การเป็นชุมชนท่องเที่ยว ชาวบ้านในหมู่บ้านมีการรวมตัวกันในการบริหารจัดการการท่องเที่ยวเพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่นักท่องเที่ยวในด้านต่าง ๆ เช่น เปิดร้านเช่าชุดม้งเพื่อถ่ายรูปให้สมกับบรรยากาศความเป็นชุมชนชาติพันธุ์ สร้างสิ่งอำนวยความสะดวก เช่น ห้องน้ำ ศาลาพักรถ ฯลฯ นอกจากนี้ยังมีการนำเอาผลผลิตทางการเกษตรมาจำหน่ายในช่วงเทศกาลปีใหม่ม้งและดอกพญาเสือโคร่งบาน โดยเข้าไปตั้งหน้าร้านที่เขตสถานีวิจัยเกษตรที่สูงขุนช่างเคี่ยน เนื่องจากเป็นแหล่งรวมพลนักท่องเที่ยวจำนวนมาก
ร้านกาแฟ เป็นอีกหนึ่งช่องทางการสร้างรายได้ที่เป็นที่นิยมในชุมชนบ้านช่างเคี่ยน กาแฟที่นำมาขายนั้นเป็นกาแฟสายพันธุ์อาราบิก้าที่ได้ต้นกล้าจากสถานีวิจัยเกษตรที่สูงขุนช่างเคี่ยน ที่ชาวบ้านนํามาปลูกเองและรับซื้อของเพื่อนบ้านและได้นํามาแปรรูปคัด เมล็ดกาแฟที่สมบูรณ์ที่สุด นํามาคั่วเมล็ดกาแฟด้วยเครื่อง แล้วบรรจุลงในซองเพื่อนําไปขายหน้าร้าน บางครอบครัวที่ทุนทรัพย์มากพอก็จะพัฒนาเปิดร้านกาแฟเป็นของตนเอง