เส้นทางศึกษาธรรมชาติยอดดอยปุย

เส้นทางศึกษาธรรมชาติยอดดอยปุย ระยะทาง 3 กิโลเมตร (ไป-กลับ) ความสูง 1,550-1,685 เมตร จากระดับน้ำทะเล เป็นเส้นทางเดินป่าที่พาผู้เดินทางขึ้นสู่ยอดดอยปุย จุดสูงสุดของอุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย ซึ่งสูงจากระดับน้ำทะเลถึง 1,685 เมตร เส้นทางนี้พาผู้เดินผ่านป่าดิบที่อุดมสมบูรณ์ ในฤดูหนาวอุณหภูมิอยู่ที่ 10-15 องศาเซลเซียส และสามารถพบเห็นพรรณไม้และสิ่งมีชีวิตท้องถิ่น

Point 1 𝙋𝙧𝙪𝙣𝙪𝙨 𝙘𝙚𝙧𝙖𝙨𝙤𝙞𝙙𝙚𝙨
จุดที่ 1 นางพญาเสือโคร่ง

นางพญาเสือโคร่ง (𝙋𝙧𝙪𝙣𝙪𝙨 𝙘𝙚𝙧𝙖𝙨𝙤𝙞𝙙𝙚𝙨 Buch.-Ham. ex D.Don) เป็นไม้ยืนต้นผลัดใบ ซึ่งมีลักษณะคล้ายต้นซากุระของญี่ปุ่น จึงมักถูกเรียกว่า "ซากุระเมืองไทย" พบได้ในพื้นที่ภูเขาสูงที่มีอากาศเย็น ดอกสีชมพู บานในช่วงฤดูหนาว เดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม

Point 2 Hill evergreen forest
จุดที่ 2 ป่าดิบเขา

ป่าดิบเขา คือ ป่าประเภทหนึ่งที่พบในพื้นที่ภูเขาสูง มีความชื้นสูงและมีอากาศเย็นตลอดปี เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของพืชและสัตว์หลากหลายชนิด ป่าดิบเขามักพบที่ระดับความสูงตั้งแต่ 1,000 เมตรขึ้นไป จากระดับน้ำทะเล มีพรรณไม้เด่น เช่น ก่อ สนสองใบ สนสามใบ มอส เฟิร์น และกล้วยไม้ เป็นต้น

Point 3 Falling trees in the forest
จุดที่ 3 ไม้ล้มในป่า

ไม้ล้มในป่า เปรียบกับสำนวน "ตายหนึ่งเกิดแสน" คือ การที่ต้นไม้ต้นหนึ่งหักโคนหรือล้มตายไป เกิดพื้นที่และช่องว่างในป่า ทำให้เมล็ดและพรรณไม้อื่นสามารถเติบโตเป็นต้นไม้ใหญ่ต่อไปได้มากมาย

Point 4 Wildlife's grocery stores
จุดที่ 4 ซุปเปอร์มาร์เก็ตของสัตว์ป่า

ไม้ผลในป่า เป็นแหล่งอาหารสำคัญของสัตว์ป่าหลายชนิด เปรียบเสมือน "ซุปเปอร์มาร์เก็ต" ผลไม้สุกสามารถดึงดูดให้สัตว์ต่าง ๆ เข้ามากินผล และเป็นกลไกในการกระจายเมล็ดด้วย เช่น ก่อ มะกอกห้ารู มะเดื่อ เป็นต้น

Point 5 Epiphytic plants
จุดที่ 5 พืชอิงอาศัย

พืชอิงอาศัย เป็นพืชที่เติบโตบนต้นไม้หรือวัตถุอื่น เพื่อใช้เป็นที่เกาะโดยไม่เบียดเบียนพืชเจ้าบ้าน เช่น กล้วยไม้ ไลเคน มอสส์ และเฟิร์น เพื่อรับแสงแดด อากาศ และความชื้น

Point 6 Lichen
จุดที่ 6 ไลเคน

ไลเคน คือ สิ่งมีชีวิตที่เกิดจากการรวมตัวกันของสาหร่ายและเชื้อรา ซึ่งมีการพึ่งพาอาศัยกันอย่างใกล้ชิด โดยสาหร่ายช่วยผลิตอาหารจากแสงแดดและสังเคราะห์แสง ในขณะที่เชื้อราช่วยดูดซับน้ำและแร่ธาตุจากสิ่งแวดล้อมมาให้สาหร่าย มีบทบาทสำคัญในระบบนิเวศและการชี้วัดคุณภาพอากาศ

Point 7 𝙋𝙞𝙣𝙪𝙨 𝙢𝙚𝙧𝙠𝙪𝙨𝙞𝙞 & 𝙋𝙞𝙣𝙪𝙨 𝙠𝙚𝙨𝙞𝙮𝙖
จุดที่ 7 สนสองใบและสนสามใบ

สนสองใบ (𝙋𝙞𝙣𝙪𝙨 𝙢𝙚𝙧𝙠𝙪𝙨𝙞𝙞Jungh. & de Vriese) เป็นต้นไม้ที่พบในพื้นที่ที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลตั้งแต่ 800 เมตรขึ้นไป มีใบยาวและแหลม ลักษณะเป็นเข็มคู่ สองใบต่อหนึ่งก้าน จึงได้ชื่อว่า "สนสองใบ" ส่วน "สนสามใบ" (𝙋𝙞𝙣𝙪𝙨 𝙠𝙚𝙨𝙞𝙮𝙖 Royle ex Gordon) จะมีสามใบต่อหนึ่งก้าน

Point 8 Doi Pui peak
จุดที่ 8 ยอดดอยปุย

ยอดดอยปุย เป็นยอดเขาที่สูงที่สุดของอุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย มีความสูงถึง 1,685 เมตรจากระดับน้ำทะเล สภาพอากาศบริเวณนี้ค่อนข้างเย็น ในฤดูหนาวอุณหภูมิอยู่ที่ประมาณ 10-15 องศาเซลเซียส

Point 9 Wild rose
จุดที่ 9 กุหลาบป่า

กุหลาบป่า หรือ คำขาว (เชียงใหม่) เป็นต้นไม้ที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงปลูกไว้เมื่อวันที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2536 มีดอกสีขาวนวล ออกดอกช่วงเดือนตุลาคม - พฤษภาคม

Point 10 A Royal Pavilion
จุดที่ 10 พลับพลา

เมื่อปี พ.ศ. 2512 พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในหลวงรัชกาลที่ 9 เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎรชาวไทยภูเขา ทอดพระเนตรชีวิตความเป็นอยู่ของชาวเขาบ้านม้งดอยปุยและหมู่บ้านโดยรอบ โดยพระราชดำเนินแบบ "ทรงเดินไป" และประทับพักบริเวณพลับพลาดอยหัวหมูแห่งนี้ก่อนจะเสด็จพระราชดำเนินไปบ้านแม่สา บ้านแม่สาน้อย บ้านผานก-กก บ้านม่วงคำ ตำบลโป่งแยง อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่